หนึ่งใน “พิษ” ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการแพทย์ และมีชื่อเสียงที่สุดตัวหนึ่ง คือ โบท็อกซ์
ชื่อจริงของโบท็อกซ์ คือ Botulinum toxin ซึ่งเป็นพิษของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostidium botulinum
เส้นทางของโบท็อกซ์มีมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะรับรู้กันว่านี่คือพิษของแบคทีเรียชนิดหนึ่งด้วยซ้ำไป โดยในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณว่ากันว่าเหล่ามหาราชานำพิษที่สกัดจากอาหารอย่างหนึ่งมาใช้สังหารศัตรู
————————————————————
แรกเริ่มเดิมที โบท็อกซ์ถูกเรียกว่า “พิษไส้กรอก” (Sausage poison) เพราะผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตเกิดจากการรับประทานไส้กรอกรมควันเข้าไป
ประมาณปีค.ศ.1817 นายแพทย์ Justinus Kerner ชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นอาการอ่อนแรง ปากแห้ง ประสิทธิภาพการขับสารของร่างกายลดลง ในกลุ่มคนไข้ที่รับประทานไส้กรอกรมควัน ซึ่งพ้องกับอาการของผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ที่เกิดจากการรับประทานไส้กรอกเลือด
ชาวเยอรมันนิยมรับประทาน « Blunzen » หรือไส้กรอกที่ทำจากเลือดผสมเครื่องเทศ ว่ากันว่าแต่ละที่ก็มีสูตรเฉพาะของตัวเอง ที่อาจคลุกเคล้ากับวัตถุดิบอย่างอื่น กลายเป็นของโอท็อปประจำถิ่น แต่ปัญหาคือ หลายแห่งนิยมรับประทานแบบดิบ ที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษขึ้นมา
คุณหมอ Kerner สรุปว่าพิษของไขมันในไส้กรอกมีฤทธิ์ลดการทำงานของกล้ามเนื้อ และทำให้ร่างกายไวต่อการกระตุ้น จึงเรียกอาการอาหารเป็นพิษลักษณะนี้ว่า Botulism จากภาษาละติน Botulus ที่แปลว่าไส้กรอก
แต่คุณหมอ Kerner ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด
————————————————————————-
วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1897 คณะนักดนตรีชาวเบลเยี่ยม 34 ราย ที่ร่วมบรรเลงในพิธีศพ ณ เมือง Ellezelles ได้รับประทานแฮมรมควันเข้าไป จากนั้นเกิดอาการผิดปกติทางสายตาและปวดท้อง จนกระทั่งเสียชีวิต 3 ราย
โรงพยาบาลได้ส่งแฮมพร้อมอวัยวะที่ติดเชื้อ ไปให้กับ Emile van Ermengem ศาสตราจารย์ด้านแบคทีเรียวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเมือง Ghent ตรวจ พบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการลักษณะเดียวกับที่คุณหมอ Kerner เขียนตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ในปีค.ศ.1820 และ 1822
ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะสามารถระบุได้ว่า อาการอาหารเป็นพิษเกิดจากพิษในอาหาร ไม่ใช่การติดเชื้อจากภายนอก
ศาสตราจารย์ Van Ermengem ได้ตั้งชื่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้ว่า Bacillus botulinum
ต่อมาในศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนชื่อแบคทีเรียชนิดนี้เป็น Clostridium botulinum จากรูปร่างที่เหมือนกระสวย
———————————————————————-
การศึกษาและทดลอง C. Botulinum ในทางการแพทย์มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสกัดเอาพิษของแบคทีเรียชนิดนี้มาได้ และทดลองจนรู้ว่ามีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
แต่กว่าจะนำมาใช้รักษาคนจริงๆ ก็กินเวลาอีกหลายสิบปี และไม่ใช่ในวงการความงาม
ในทศวรรษ 1970s Alan B. Scott จักษุแพทย์ชาวอเมริกัน เริ่มใช้ Botulinum toxin รักษาอาการตาเขหรือตาเหล่อย่างได้ผล
องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) รับรองและอนุญาตให้ใช้ Botulinum toxin รักษาอาการตาเหล่/ตาเข ในปีค.ศ.1979
หลังจากนั้นวงการการแพทย์ยอมรับการใช้ Botulinum toxin รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก
——————————————————————
การที่เรามีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก เกิดจากการที่สมองสั่งการ ด้วยการส่งสารไปที่กล้ามเนื้อนั้น แต่ Botulinum toxin ทำหน้าที่สกัดกั้นข้อความจากสมอง ไม่ให้ส่งไปถึงกล้ามเนื้อได้
ไม่ว่าสมองจะกด Send ข้อความอย่างไร ในเมื่อมีตัวบล็อกข้อความอยู่ กล้ามเนื้อก็ไม่ได้รับข้อความนั้น จึงไม่ทำงานตามที่สมองสั่ง
แต่สมองพยายามหาทางส่งข้อความไปถึงกล้ามเนื้อจนได้ ในเมื่อเส้นทางเดิมมีสิ่งกีดขวางอยู่ สมองจึงสร้างเส้นทางใหม่ขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโบท็อกซ์มีฤทธิ์อยู่เท่าช่วงเวลานั้น
——————————————————————–
นายแพทย์ชาวสวิสรายหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า สารทุกอย่างล้วนเป็นพิษ แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างฤทธิ์ในการรักษาและพิษ ก็คือปริมาณที่ใช้
Botulinum toxin ก็เช่นเดียวกัน ปริมาณที่ใช้ฉีดถือว่าน้อยมาก จนไม่ก่อให้เกิดอันตราย
รวมทั้งการศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้พิสูจน์แล้วว่าพิษดังกล่าวไม่ส่งผลให้มีอาการอาหารเป็นพิษ หรืออันตรายอื่นๆ ต่อร่างกาย
———————————————————————
จากสาขาจักษุวิทยา การแพทย์สาขาอื่นได้นำ Botulinum toxin ไปใช้ในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
ไม่ว่าจะเป็นอาการเปลือกตากระตุก และใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
อาการคอเอียงจากกล้ามเนื้อคอเกร็ง
อาการปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินไป
ภาวะน้ำลายไหลยืด เช่น ในผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน
อาการไมเกรนเรื้อรัง
และยังคงพัฒนาเพื่อจะรักษาอาการอื่นๆ เช่น อาการปวดข้อ
อาการปวดเรื้อรังเวลาถ่ายอุจจาระจากการเป็นแผลที่ทวารหนัก
อาการกลืนอาหารลำบากหรือแสบร้อนที่เกิดจากหลอดอาหารไม่คลายตัว (Achalasia) เป็นต้น
———————————————————————–
บริษัท Allergan Inc. เป็นแห่งแรกที่ผลิต Botulinum toxin ออกสู่ตลาดและได้รับการรับรองจาก US FDA ในปีค.ศ.1989 โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Botox®
แต่ที่ทำให้โบท็อกซ์กลายเป็นชื่อเรียกติดปากและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็เมื่อเวชศาสตร์ความงามนำโบท็อกซ์มาฉีดเพื่อลดริ้วรอย
ปีค.ศ.2002 US FDA รับรองการฉีด Botulinum toxin เพื่อแก้อาการคิ้วขมวด
ตามมาด้วยการฉีดเพื่อลดริ้วรอยบริเวณหน้าผาก และหางตา
หลังจากนั้น การฉีด Botulinum toxin ก็ขยายไปแทบจะทุกประเทศ และพัฒนาไปสู่การฉีดเพื่อลดขนาดใบหน้า จนถึงยกกระชับหน้า โดยเฉพาะที่เริ่มจากประเทศเกาหลี ซึ่งได้พัฒนา Botulinum toxin ขึ้นมาอีกหลายยี่ห้อ
ส่วนในสหรัฐอเมริกา มียี่ห้อที่ได้รับการยอมรับเพิ่มเติม ได้แก่ Dysport® ของบริษัท Ipsen ประเทศอังกฤษ และ Xeomin® ของบริษัท Merz Pharma ประเทศเยอรมนี
———————————————————————–
การฉีด Botulinum toxin โดยแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ยังสามารถทำได้ในบริเวณที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก หรือแก้อาการบางอย่าง ที่เป็นประโยชน์อย่างที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น
ฉีดลดขนาดกล้ามเนื้อน่อง เพื่อให้น่องเรียว
ฉีดกล้ามเนื้อปีกจมูก แก้ปีกจมูกบาน
ฉีดเพื่อแก้ไขคนที่ยิ้มแล้วเห็นเหงือกด้านบน (Gummy smile)
ฉีดลดริ้วรอยรอบริมฝีปาก (Smoking line) ในผู้ที่อายุมาก หรือผู้ที่สูบบุหรี่
ฉีดแก้ไขมุมปากตก
ฉีดปรับรูปคาง ให้คางดูยาวขึ้น สำหรับผู้ที่มีลักษณะ Stone chin หรือ Strawberry chin
ฉีดแก้ไขในผู้ที่ริมฝีปากล่างเกยทับริมฝีปากบนเล็กน้อย
———————————————————————–
แพทย์ผิวหนังและความงามยังสามารถฉีดลดเหงื่อในผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) บริเวณใต้วงแขน มือ และเท้า ได้ด้วย
ภาวะเหงื่อออกจำนวนมากที่มือสร้างความรำคาญให้กับเจ้าตัวตลอดเวลา จะจับมือใครก็เกร็ง หยิบจับอะไรก็เลอะไปหมด
ส่วนที่เท้า แทบจะทำให้ใส่รองเท้าแตะไม่ได้เลย แต่เวลาใส่รองเท้าถุงเท้ายิ่งแย่กว่า เพราะยิ่งเหนอะหนะ
กับใต้วงแขนยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงไม่มีใครอยาก “รักแร้เปียก” ให้คนอื่นเห็นหรือล้อเลียน แถมยังเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งการเกิดกลิ่นตัวด้วย
เท่าที่ Botulinum toxin แก้ไขอาการทั้งหมดที่ทำได้ในปัจจุบัน ก็เพียงพอแล้วที่จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “พิษมหัศจรรย์” (Miracle poison)