ไขมันหน้าท้อง

ไขมันหน้าท้อง

     คนที่ลดน้ำหนักหลายคนมักรู้สึกเหมือนๆ กันว่าหน้าท้องนั้นลดยากเย็น

     เพราะถ้าเป็นเรื่องของไขมันแล้ว Location does matter!

     ไขมันแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ชนิด คือ Subcutaneous fat และ Visceral fat

     Subcutaneous fat เป็นไขมันใต้ผิวหนัง จับแล้วนิ่มๆ เกาะอยู่บริเวณต้นแขน ต้นขา สะโพก และหน้าท้อง สังเกตง่ายๆ เป็นเนื้อส่วนที่เราเอานิ้วหนีบดูได้

     แต่หน้าท้องยังมีไขมันอีกตัว เรียกว่า Visceral fat ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอก เพราะอยู่ภายในช่องท้องรอบๆ อวัยวะภายใน โดยเฉพาะตับ กระเพาะ และลำไส้ แถมยังเกาะที่ผนังเส้นเลือดแดงได้ด้วย

     แม้ในคนผอมก็มี Visceral fat อย่างที่ว่ากันว่า ผอมแต่มีพุง

———————————————-

     ทุกคนมี Subcutaneous fat อยู่ และมีแนวโน้มจะสะสมทั้ง Subcutaneous และ Viceral fat ด้วย

     การใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ วัย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งพันธุกรรม ต่างมีผลต่อ(ปริมาณ)ไขมันของเราทั้งสิ้น

     ความเครียดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน Cortisol ที่มีผลต่อความอยากอาหาร ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แบบที่พูดว่าเครียดแล้วอยากของหวาน ยิ่งเครียดสะสม ยิ่งไปกันใหญ่

     หรือเมื่อเรานอนน้อย ร่างกายจะพยายามสะสมพลังงานไว้

     (แต่การนอนมากใช่ว่าจะดี โดยเฉพาะในวัยต่ำกว่า 40 ปี หากนอนเกิน 8 ชั่วโมง ร่างกายมีแนวโน้มจะสะสม Visceral fat ได้)

     ยิ่งเข้าวัยกลางคน สัดส่วนไขมันต่อน้ำหนักยิ่งเพิ่มขึ้น และโชคร้ายที่เพิ่มในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะที่หน้าท้อง (มากกว่าต้นขาและสะโพก) ต่อให้น้ำหนักไม่เพิ่ม หน้าท้องก็เพิ่มขึ้นได้

———————————————-

     เอาเข้าจริง Visceral fat นั้นมีอยู่เพียง 10% ของไขมันในร่างกาย เพื่อทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายใน แต่หากมีมากเกินไป จะส่งผลไม่เพียงแต่รูปร่างเท่านั้น ยังมีผลต่อสุขภาพด้วย

     เดิมคิดกันแค่ว่า Visceral fat ทำให้คอเลสเตอรอลเพิ่ม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง และมีผลต่อตับ

     แต่จริงๆ แล้วยังมีผลต่อการเพิ่มระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เสี่ยงต่อทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความจำเสื่อม หอบหืด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคเรื้อรังบางโรค

     ขณะที่ Subcutaneous fat กลับให้ประโยชน์อย่างที่คาดไม่ถึง เพราะผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสมองให้ลดความอยากอาหารลง และฮอร์โมนที่ช่วยในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ รวมทั้งยังช่วยลดการอักเสบของเส้นเลือดด้วย

     ไม่ว่ายังไง ถ้ามีไขมันทั้ง 2 ตัว ในปริมาณมาก จากที่เป็นผลดี อาจจะส่งผลเสียได้

———————————————-

     ไขมันทั้ง 2 ตัว สามารถลดได้

     โชคดีที่ตัวช่วยในการลด Subcutaneous fat มีอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการดูดไขมัน

     การกำจัดเซลล์ไขมันด้วยพลังงานคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือคลื่นวิทยุ (RF หรือ Radio frequency) การใช้ความเย็นจัดต่ำกว่าระดับจุดเยือกแข็ง หรือการใช้เลเซอร์

     การฉีดสลายเซลล์ไขมันเฉพาะจุด ไปจนกระทั่งถึงการฉีดยาเพื่อเร่งกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย

     แต่ Visceral fat ยากกว่านั้น เพราะไม่มีพลังงานใดจะแทรกลงไปถึง แต่ก็ยังโชคดีที่ไขมันตัวนี้เผาผลาญได้ง่าย จึงตอบสนองต่อการควบคุมอาหารและออกกำลังกายได้ดี (อาจจะง่ายกว่าการลดไขมันที่ต้นขาและสะโพกด้วยซ้ำ)

     หลายคนที่ลดน้ำหนักมักพยายามลดเป็นส่วนๆ แต่วิธีที่ได้ผลกว่าคือพยายาม Burn fat ในร่างกายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่เพิ่มการเต้นของหัวใจ (แอโรบิก วิ่ง ว่ายน้ำ กระโดดเชือก ปั่นจักรยาน เป็นต้น) หรือออกหนักๆ สั้นๆ สลับกับการออกเบาๆ (HIIT หรือ High-intensity interval training)  

     ฉะนั้นต่อให้เราอยากลดหน้าท้องมากแค่ไหน อย่ามัวแต่ซิทอัพเพียงอย่างเดียว

———————————————-

     ถ้าใครที่พยายามลดน้ำหนักอย่างเอาจริงเอาจัง แต่รู้สึกว่าไม่ไปไหนเสียที อย่าเพิ่งถอดใจ

     ความอ้วนมีเหตุปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงแค่การรับประทานมากเกินไป รับประทานแต่อาหารไขมันสูง และไม่ออกกำลังเท่านั้น

     แต่พันธุกรรม ฮอร์โมน การทำงานของร่างกาย หรือโรคบางชนิด ส่งผลต่อความอ้วนได้ทั้งสิ้น

     อย่างการขาดหรือดื้อฮอร์โมนเลปติน ที่ทำหน้าที่บอกสมองว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอแล้ว หากขาดฮอร์โมนตัวนี้ไป สมองคิดว่าร่างกายยังหิวอยู่ จึงสั่งให้รับประทานเกินกว่าที่ต้องการ

     แม้เราไม่สามารถเปลี่ยนพันธุกรรมหรือฮอร์โมนในร่างกายได้ แต่การลดน้ำหนักก็สามารถทำได้ อาจจะยากกว่าคนอื่นไปสักหน่อย ขอแค่เพียงไม่ท้อเสียก่อนเท่านั้น

Message us