หลายคนยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะฉีดฟิลเลอร์ เพราะไม่แน่ใจว่าหากฉีดไปแล้ว จะมีความเสี่ยงทำให้รูปหน้าผิดปกติ เนื่องจากฟิลเลอร์ไหลหรือไม่ และยังต้องหน้าเบี้ยวไปตลอดชีวิต เนื่องจากฟิลเลอร์ไม่สลายด้วยหรือเปล่า
ข่าวที่ออกมายิ่งตอกย้ำความกลัวเข้าไปใหญ่
แล้วฟิลเลอร์ไม่สลายจริงหรือ เวลาผ่านไปจะไหลจริงหรือ
จริงๆ แล้ว หากเป็นสารที่ถูกต้องทางการแพทย์ ได้รับการรับรอง โอกาสที่จะเกิดอาการดังกล่าวแทบจะเป็นศูนย์
——————————-
ถ้าอย่างนั้น ที่เราเห็นข่าวกันคืออะไร เป็น Fake news หรือเปล่า
ข่าวไม่ได้โกหก แต่ผู้ฉีด ฉีดสารที่ไม่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) เข้าไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซิลิโคนเหลว ที่ไม่เกาะกับผิว
ฉีดตอนแรกๆ จะรู้สึกว่าสวยดี เพราะกล้ามเนื้อเรายังแข็งแรง สามารถช่วยพยุง (Support) ไว้ได้ แต่พออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อเริ่มหย่อน ซิลิโคนก็ไหลมาตามแนวกล้ามเนื้อ
——————————
การฉีดซิลิโคนเหลวมีมาตั้งแต่ยุคฮิปปี้หรือยุคบุปผาชน (ทศวรรษ 1960) อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา
ผู้ฉีดส่วนใหญ่มักเป็นสาวประเภทสอง ที่อยากให้รูปร่างเปลี่ยนเป็นเหมือนผู้หญิง (ไม่ว่าจะแปลงเพศหรือยังก็ตาม) มีตั้งแต่ฉีดสะโพก ก้น หน้าอก แล้วก็มาถึงใบหน้า เพราะจะให้ทำศัลยกรรมก็สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว
แต่ก็เกิดปัญหาตามมามาก จนกระทั่งอย. สหรัฐฯ (US FDA) ต้องสั่งห้ามการใช้ซิลิโคนเหลว
อีกอย่างหนึ่ง ในยุคนั้น US FDA ยังไม่ให้การรับรองฟิลเลอร์ตัวใดๆ เลย แม้ว่าจะมีการฉีดฟิลเลอร์มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
——————————
ถ้าจะไล่เรียงกันดู การฉีดฟิลเลอร์เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยใช้พาราฟิน หรือขี้ผึ้งจากไม้ชนิดหนึ่ง
โดยที่ไม่ได้ฉีดเพื่อความงาม แต่เพื่อลดรอยแผลเป็นในผู้ป่วยวัณโรค รวมไปถึงการฉีดถุงอัณฑะด้วย เสมือนเป็นการปลูกอัณฑะเทียมให้กับผู้ป่วย
แต่ก็เกิดปัญหาหลังจากฉีดไปไม่กี่ปี ทั้งเป็นก้อน ทั้งไหล ติดเชื้อ จนกระทั่งถึงอุดตันเส้นเลือด จึงได้เลิกใช้ไป
แต่สารอื่นที่ใช้หลังจากนั้น ก็ยังมีลักษณะใกล้เคียงพาราฟินอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้งชนิดต่างๆ น้ำมันพืช ลาโนลิน (ไขมันจากแกะ) จึงเกิดความเสี่ยงไม่ต่างกัน
——————————-
จนกระทั่งประมาณต้นศตวรรษที่ 20 ถึงได้ใช้วิธีดูดไขมันจากแขนมาฉีดที่หน้าเป็นผลสำเร็จ แต่ยังคงเป็นการฉีดเพื่อแก้ไขรอยแผลเป็น หรือแก้ปัญหารูปหน้าที่เป็นผลจากโรค ไม่ใช่เพื่อความงามเป็นหลัก
แม้ว่าการใช้ไขมันตัวเองมาฉีดจะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่เคยมีมา แต่ใช้ได้เฉพาะบริเวณกว้างๆ เพราะเนื้อไขมันหนืดเกินกว่าที่จะฉีดตกแต่งริ้วรอย หรือหลุมสิว
จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ยังคงคิดค้นสารที่จะนำมาฉีดต่อไป
——————————-
หลังจากที่ซิลิโคนเหลวก่อให้เกิดผลข้างเคียงในช่วงปีค.ศ.1960-1970 วงการการแพทย์เริ่มหันมาดูต้นตอจากโครงสร้างใบหน้า พบว่าคอลลาเจนเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ผิวหนังเต่งตึง จึงพยายามคิดค้นคอลลาเจนเพื่อจะนำมาฉีดเป็นฟิลเลอร์
จนกระทั่งสกัดคอลลาเจนจากสัตว์ได้เป็นผลสำเร็จ
ปีค.ศ.1981 US FDA ให้การรับรองการฉีดคอลลาเจนบริสุทธิ์จากวัวเข้าที่ใบหน้าเพื่อความงาม โดยเฉพาะการเติมร่องแก้ม ตามมาด้วยการใช้คอลลาเจนสกัดจากหมู
——————————
แต่คอลลาเจนจากสัตว์ก็ยังฉีดได้จำกัด เพียงแก้มและร่องแก้มเป็นหลัก จึงได้พยายามคิดค้นสารที่สามารถฉีดเพื่อความสวยงามได้มากกว่านั้น
วงการแพทย์หันไปมองสารตัวอื่นที่ทำให้ผิวเต่งตึง จึงได้ออกมาเป็น Hyaluronic acid (HA) ซึ่งเป็นส่วนประกอบอีกตัวหนึ่งในผิวหนังคนเรา (นอกจากคอลลาเจน)
ในปีค.ศ.2003 ที่ US FDA รับรองการฉีดสาร HA เพื่อความงาม ได้พลิกโฉมวงการความงามอย่างมโหฬาร
การฉีดฟิลเลอร์กลายเป็นทางเลือกแก้ปัญหาขมับตอบ แก้มตอบ ร่องแก้มลึก มีร่องมุมปาก ไปจนกระทั่งถึงฉีดปากให้อิ่มเต็ม ฉีดโหนกแก้ม ฉีดหลังมือแก้ไขรอยเหี่ยวย่น
——————————
ด้วยความที่เป็นหนึ่งในโครงสร้างผิวหนัง (ต่อให้พัฒนาขึ้นมาในห้องแลปก็ตาม) HA จึงสามารถกลืนเป็นเนื้อเดียวกับผิวได้
อย่างไรก็ตาม ร่างกายคนเราสามารถรู้ได้ว่า HA ที่ฉีดเข้ามา ไม่ใช่ผิวของตัวเอง จึงสั่งให้เอ็นไซม์ค่อยๆ ย่อยสลายสารดังกล่าว ซึ่งกินเวลาทั้งหมดประมาณ 6-18 เดือน
——————————
ในประเทศไทย หน่วยงานอย. รับรองฟิลเลอร์เพียงแค่ Hyaluronic acid (HA) แต่ในสหรัฐอเมริกาไปไกลกว่านั้นมาก
เพราะแม้ HA จะดี แต่ก็มีอายุไม่เกิน 2 ปี จึงพยายามคิดค้นฟิลเลอร์ตัวอื่นที่ปลอดภัย และอยู่ได้ยาว
ได้ออกมาเป็น Calcium Hydroxylapatite (CaHA) เช่น Radiesse® ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระดูก เพื่อฉีดร่องลึกๆ บนใบหน้า
Poly-L-lactic acid (PLLA) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ (เช่น Sculptra®) เช่นเดียวกับ Polymethylmethacrylate (PMMA) เช่น Bellafil® ที่สลายได้ แต่ก็หลังจากการฉีดหลายปี
ฟิลเลอร์กึ่งถาวรเหล่านี้พัฒนาขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อื่นๆ ด้วย เช่น ฉีดให้ผู้ป่วยเอดส์ในรายที่แก้มตอบมากๆ
——————————
แต่โชคร้ายที่วงการแพทย์ยังไม่สามารถพัฒนาฟิลเลอร์ HA ราคาต่ำได้ เราจึงยังได้ยินข่าวการนำซิลิโคนเหลว หรือฟิลเลอร์ปลอม หรือฟิลเลอร์ผิดกฎหมาย มาฉีดและเกิดผลข้างเคียงอยู่เสมอ
ทำให้ฟิลเลอร์กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของหลายๆ คน
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ฟิลเลอร์เป็นวิธีการแก้ไขความเสื่อมชราจากวัยที่ไม่ใช่ศัลยกรรม ในแบบที่ยังไม่มีวิธีอื่นทดแทนได้ดีเท่า และยังเห็นผลเร็ว ไม่มีระยะพักฟื้น ดูเป็นธรรมชาติ
แต่เทคนิคการฉีดฟิลเลอร์ยากกว่าโบท็อกซ์มาก แพทย์ที่ฉีดไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้กายวิภาคกล้ามเนื้อ ตำแหน่งเส้นเลือด และโครงสร้างใบหน้าเป็นอย่างดี แต่ยังต้องฝึกให้ชำนาญ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้
รวมทั้งต้องมีสายตาของศิลปิน รู้ว่าควรแก้ไขใบหน้าอย่างไร และมือที่แม่นยำ สามารถทำได้ตามที่ออกแบบการฉีดไว้
เพราะความสวยเป็นเรื่องของศิลปะ