สิววัยทำงานและสิวเมื่อตั้งครรภ์

สิววัยทำงานและสิวเมื่อตั้งครรภ์

     หลายคนมักสงสัยว่า เลยวัยรุ่นมาตั้งนานแล้ว ทำงานมาก็หลายปี ทำไมสิวยังขึ้นอยู่อีก

     ปัญหาสิวไม่ได้เป็นเฉพาะวัยรุ่น แต่เกิดได้ไม่ว่ากับวัยใด หรือเพศใด

     เพียงแต่ในวัยรุ่น สิวดูจะเป็นปัญหาสามัญสำหรับ (เกือบ) ทุกคน

     เมื่ออายุเลย 20 ปี ไปแล้ว สัดส่วนผู้ที่มีปัญหาสิวจะน้อยกว่าประชากรวัยรุ่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เป็น

—————————————–

     ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารแพทย์ผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ได้แสดงให้เห็นว่า สาวอเมริกันวัย 20-29 ปี เกิน 50% ยังคงมีปัญหาสิวอยู่ ขณะที่ ผู้ชายมีประมาณ 42%

     ต่อให้อายุขึ้นเลขสาม ผู้หญิงที่เป็นสิวยังมีถึง 35% ส่วนผู้ชายที่ยังเป็นสิวอยู่มี 20%

     หรือเข้าวัยเลขสี่แล้ว 26% ของผู้หญิงวัยนี้ ยังคงต้องกังวลกับสิวที่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ

     แม้ในวัยห้าสิบ ผู้หญิง 15% ยังคงพบปัญหาสิวอยู่

—————————————–

     สาวฝรั่งเศสเองก็ไม่น้อยหน้า งานวิจัยอีกชิ้นที่เก็บสถิติผู้หญิงชาวฝรั่งเศสอายุ 25-40 ปี พบว่ากลุ่มที่ยังมีสิวอยู่ มีอยู่ถึง 41%

     หลายคนสิวเพิ่งเริ่มขึ้น และกลายเป็นปัญหารุนแรงด้วยซ้ำ

—————————————-

     แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลผู้ที่มีปัญหาสิวหลังพ้นวัยรุ่นในประเทศไทย แต่พอจะอนุมานได้ว่า สิวเป็นปัญหาของสาววัยทำงานแทบจะไม่ต่างจากวัยรุ่น

     ถ้าสิวสร้างปัญหาให้ขนาดนี้ เราจะแก้ได้อย่างไร

     การรักษาสิวควรแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งไม่ว่าวัยไหน สาเหตุของการเกิดสิวไม่แตกต่างกัน

—————————————-

     สิวจะเกิดก็ต่อเมื่อ

     ต่อมไขมันใต้ผิวหนังบนใบหน้าผลิตน้ำมันส่วนเกิน

     น้ำมันที่ว่าจะถูกปล่อยออกมาตามรูขุมขน ที่ทำหน้าที่เหมือนท่อระบาย แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เกิดสิว

     จะเกิดก็ต่อเมื่อท่อนั้นมีสิ่งอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว หรือสิ่งสกปรกอย่างอื่น ทำให้น้ำมันไม่สามารถระบายขึ้นมาบนผิวหน้าได้

     น้ำมันที่รวมกับสิ่งสกปรก เกิดเป็นหัวสิว (Comedone)

     แต่ยิ่งปล่อยไว้นาน ไม่กำจัดหัวสิวนั้นออกไป จากหัวสิว (อุดตัน) ก็จะกลายเป็นสิวอักเสบ

     เพราะบนใบหน้าเราจะมีแบคทีเรียอยู่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า P. Acne (Propionibacterium acne) ซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายต่อผิวหนัง

     แต่แบคทีเรียชนิดนี้ กินไขมันเป็นอาหาร ซึ่งเมื่อกินเสร็จจะถ่ายของเสียออกมา

     ยิ่งมีอาหารเป็นสิวอุดตัน ของเสียที่ปล่อยออกมาจึงเกิดเป็นสิวอักเสบ ที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดง ทำให้บวมและปวด

—————————————–

     การรักษาอย่างแรกจึงควรรักษาความสะอาดบนใบหน้า ไม่ให้มีสิ่งสกปรกตกค้างอยู่พอที่จะไปรวมกับไขมันได้

     แต่หากเกิดหัวสิวขึ้นมาแล้ว สามารถใช้ยาทาที่เรียกว่า Comedolytic ที่มีฤทธิ์ลดการอุดตันของรูขุมขนบนใบหน้า เช่น Benzoyl peroxide หรือ Topical retinoids

     ถ้าสิวนั้นกลายเป็นสิวอักเสบ การแต้มยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clinda-gel ร่วมกับการทายา Comedolytic ทำให้สิวอักเสบค่อยๆ ยุบลงได้

     แต่หากจัดการสิวด้วยตัวเองแล้ว (ที่ไม่ใช่การบีบออก)  ไม่สามารถกำจัดปัญหานี้ไปได้ การมาพบหมอ จะช่วยวางแผนการรักษาอย่างเป็นระบบตามอาการของแต่ละคน

     เพราะหมอจะมีวิธีรักษาเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จนถึงแก้ที่ต้นเหตุ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นการกดสิว ฉีดสิว การใช้ยาทา หรือชนิดรับประทาน รวมทั้งวิธีอื่นๆ

—————————————–

     แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาสิว ต้องดูแลด้วยตนเอง

     การที่จะผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมาได้ ต่อมไขมันมักโดนกระตุ้น โดยเฉพาะจากฮอร์โมนเพศ วัยรุ่นจึงเป็นสิวมาก เพราะเป็นวัยฮอร์โมน

     นอกจากนี้ ฮอร์โมนเพศยังจะถูกกระตุ้นให้เพิ่มสูงขึ้นก่อนมีรอบเดือน โดยเฉพาะช่วง 1 อาทิตย์ ก่อนมี 

     ไม่ใช่แค่นั้น ฮอร์โมนเพศถูกกระตุ้นได้ด้วยความเครียด หรือพักผ่อนน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสิวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสิววัยทำงาน

     ดังนั้น หากดูแลร่างกายดีขึ้น ก็ช่วยลดตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดสิวได้

—————————————–

     การเลือกเครื่องสำอางที่เสี่ยงต่อการอุดตันน้อย (Oil-free) ก็ช่วยได้เช่นกัน

     รวมไปถึงการทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า และพัฟ เป็นประจำ

     อีกอย่างที่ลืมไม่ได้ คือผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผม หากใช้น้ำมันบำรุงผม เจล แว็กซ์ สเปร์แต่งทรงผม ควรดูแลความสะอาดใบหน้าเป็นพิเศษ

—————————————–

     แม้แต่ยารับประทานบางตัว เช่น ลิเธียม หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์ ก็มีผลต่อสิว

     ผู้ที่มีปัญหาผื่นแพ้ มักจะทาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นการรักษาอย่างได้ผลรวดเร็ว แต่การใช้ยาทาที่ผสมสารสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้ผิวหนังบางลง และเกิดเป็นสิวที่เรียกว่า “สิวสเตียรอยด์”

—————————————–

     อาหารบางชนิดมีผลต่อการเกิดสิว โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารหรือเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

     อาจจะไม่ได้มีผลต่อทุกคน แต่มีผลงานวิจัยของต่างประเทศที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารบางประเภทกับความเสี่ยงต่อการเกิดสิว เพราะส่งผลต่อภาวะการอักเสบในร่างกาย    

—————————————–

     ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อสิวที่ดูแลตัวเองลำบาก คือ คุณแม่ตั้งครรภ์    

     เพราะในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงมาก คุณแม่ตั้งครรภ์หลายรายจึงมีปัญหาสิว

     แต่การรักษาทำได้ยากกว่าคนอื่นๆ เพราะไม่สามารถใช้ยาสุ่มสี่สุ่มห้าได้ ไม่ว่าจะชนิดรับประทาน หรือชนิดทา เนื่องจากเสี่ยงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

     แม้จะไม่มีการทดลองว่าตัวยา Comedolytic สามารถใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้หรือไม่ แต่ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยง ทั้ง Benzoyl peroxide และกลุ่ม Retinoids

     ส่วน Clinda-gel มีการทดสอบกันแล้วว่าปลอดภัยพอที่จะใช้ได้ 

     แต่การปรึกษาหมอผิวหนัง ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

—————————————–    

     มีคำกล่าวว่า สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะสามารถหายเองได้

     แต่จริงๆ แล้ว ไม่ควรมองข้ามปัญหาสิว เพราะส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกไม่ว่าตอนเป็นสิว หรือเมื่อสิวหายแล้วก็ตาม ส่งผลลามไปถึงเรื่องอื่น ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือก่อปัญหารุนแรงกว่านั้น

     เมื่อเป็นสิวอักเสบ ต่อให้สิวหาย ก็จะทิ้งรอยดำไว้ (Post-inflammatory hyperpigmentation หรือ PIH)    

     ยิ่งถ้าไม่รักษา ปล่อยทิ้งเอาไว้แบบนั้น ภาวะการอักเสบจะทำให้เกิดพังผืดใต้ผิวหนัง กลายเป็นหลุมสิว (Atrophic scar)

     แต่ในบางคนไม่ใช่เพียงแค่หลุมสิว แต่กลายเป็นแผลเป็นนูน (Hypertrophic scar) ซึ่งรักษายากยิ่งกว่า

     เพราะสารอักเสบมีลักษณะคล้ายน้ำย่อย ยิ่งเกิดการอักเสบมากหรือเป็นระยะเวลานาน จะไม่ย่อยแค่เพียงบริเวณที่เป็นสิว แต่จะย่อยเนื้อเยื่อด้านข้างด้วย

     เมื่อเนื้อเยื่อโดนทำลาย ร่างกายยิ่งพยายามสมานแผลที่โดนทำลายนั้น ซึ่งในคนที่ยีนส์ผิดปกติจะสร้างเนื้อเยื่อเพื่อสมานแผลมากเกินไป

     ยีนส์ที่ผิดปกตินี้ ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็โยงได้ว่าปัญหาสิวเกี่ยวข้องถึงระดับพันธุกรรม

     สิวจึงเป็นปัญหาไม่เล็ก แต่ก็ไม่ยากเกินจะแก้ไข

Message us