สงครามสร้างประโยชน์ (แต่ความสูญเสียมากกว่า)

สงครามสร้างประโยชน์ (แต่ความสูญเสียมากกว่า)

     รู้หรือไม่ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยสงคราม

     สงครามโลกครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งแรกที่อานุภาพการทำลายล้างของอาวุธคร่าชีวิตคนได้มากกว่าโรคระบาดครั้งใหญ่ ไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้เกิดการบาดเจ็บพิการอีกเป็นจำนวนมาก จึงเร่งให้เกิดการพัฒนาการทำแขนขาเทียม ที่เดิมทำจากไม้เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่สามารถทำให้พับงอได้ มาใช้วัสดุที่เบาขึ้น ใช้งานได้ดีขึ้น

      การถ่ายเลือดก็เช่นกัน ได้รับการพัฒนาการเก็บรักษาเลือดไม่ให้แข็งตัว เพื่อยืดอายุนานพอที่จะนำไปให้กับทหารที่ได้รับบาดเจ็บในแนวหน้าได้อย่างปลอดภัย ทั้งก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และให้เลือดหลังการผ่าตัด  รวมทั้งยังใช้การถ่ายเลือดเพื่อช่วยทหารที่ได้รับพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ด้วย

     การทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าให้กับทหารที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดหรืออาวุธปืน ส่งผลให้ศัลยกรรมพลาสติกกลายเป็นสาขาการแพทย์เฉพาะทาง แยกออกมาจากศัลยศาสตร์ ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องทนทุกข์กับความบิดเบี้ยวและผิดปกติของใบหน้า นอกจากนี้ ยังต่อยอดไปถึงการพัฒนาเทคนิคการฆ่าเชื้อ และการดมยาสลบ เพื่อให้การผ่าตัดปลอดภัยยิ่งขึ้น

     เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบอัลตราซาวด์ จนกระทั่งนำมาใช้ในทางการแพทย์

———————————————-

     พื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากคลื่นเสียงเริ่มจากการค้นพบในปีค.ศ.1794 ของ Lazzaro Spallanzani นักบวชและนักชีววิทยาชาวอิตาเลียนที่ค้นพบว่าค้างคาวบินได้ในความมืด จึงสรุปว่าค้างคาวนำทางด้วยเสียงไม่ใช่ด้วยแสงที่ช่วยในการมองเห็น โดยใช้เสียงความถี่สูง (Ultrasound) กระทบวัตถุแล้วสะท้อนกลับทำให้กะตำแหน่งและระยะทางได้ (Echolocation)

     ต่อมาการค้นพบตัวแปลงความถี่เสียง (Ultrasound transducer) ของ Pierre Currie และ Jacques น้องชาย ในปีค.ศ.1877 บวกกับ Paul Langevin นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ที่ประดิษฐ์เครื่องมือตรวจสอบวัตถุใต้ทะเล (Hydrophone) สำเร็จในปีค.ศ.1915 กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบโซนาร์ Sonar (Sound Navigation and Ranging) หรือการนำทางและระบุตำแหน่งวัตถุโดยใช้คลื่นเสียง

     ที่จริงแล้ว Paul Langevin ประดิษฐ์ Hydrophone ขึ้นมา เพื่อต้องการใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเล เนื่องจากได้แรงบันดาลใจจากการจมของเรือไททานิก แต่ภัยคุกคามของเรือดำน้ำเยอรมันที่สามารถลอบโจมตีเรือของฝั่งสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับเป็นสิ่งที่เร่งให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรนำระบบโซนาร์มาใช้ จนกระทั่งสามารถตรวจพบและระบุตำแหน่งของเรือดำน้ำของเยอรมนีได้ จากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรยิ่งพัฒนาเทคนิคการตรวจจับเรือดำน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

———————————————-

     ระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เทคโนโลยีอัลตราซาวด์นำมาใช้ในการตรวจสอบรอยร้าวในโลหะที่เป็นส่วนประกอบของเรือและของเครื่องบิน ที่กลายมาเป็นต้นแบบเครื่องอัลตราซาวด์ในทางการแพทย์

     นายแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ Ian Donald รู้จักเทคโนโลยีเรดาร์และโซนาร์ตั้งแต่ตอนที่เป็นทหารอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ประมาณปีค.ศ.1958 ได้ร่วมกับนายแพทย์กลุ่มหนึ่งและวิศวกร คิดค้นเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางสูตินรีเวช โดยใช้พื้นฐานจากเครื่องตรวจสอบรอยร้าวในโลหะ ท่ามกลางสายตาเคลือบแคลงของแพทย์ผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ที่เห็นว่าการตรวจสอบช่องท้องและอุ้งเชิงกรานด้วยมือให้ผลที่แม่นยำกว่า

———————————————-

     การทำงานของเครื่องอัลตราซาวด์ใช้ตัวแปลงความถี่เสียงส่งคลื่นเสียงลงไปในร่างกาย (โดยใช้เจลเป็นสื่อ) ซึ่งเมื่อกระทบกับอวัยวะจะสะท้อนคลื่นกลับมาที่เครื่อง ทำให้สามารถสร้างรูปร่างหน้าตา และขนาดของอวัยวะส่วนนั้นๆ (รวมไปถึงทารกในครรภ์) แปรออกมาเป็นภาพได้        

     การใช้เทคโนโลยีเสียงยังช่วยวินิจฉัยทางการแพทย์ในหลายสาขา ทั้งการใช้ตรวจสอบหามะเร็งสมอง (ตั้งแต่ปีค.ศ.1942) การตรวจหาก้อนนิ่ว (ค.ศ.1948) ตรวจหามะเร็งทรวงอก (ค.ศ.1950) การตรวจดูการไหลเวียนโลหิต (ค.ศ.1966) ตรวจสอบสภาพปอด (ค.ศ.1989)

     ขณะเดียวกัน เครื่องอัลตราซาวด์ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จาก 2D ในยุคเริ่มแรก เป็น 3D และเป็น 4D หรือแบบ Real time ในปัจจุบัน

———————————————–

     ปลายทศวรรษ 1980 สถาบันวิจัยทางการแพทย์ประเทศฝรั่งเศสค้นพบว่า หากใช้อัลตราซาวด์พลังงานสูง (High Intensity Focused Ulrasound หรือ HIFU) จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ จึงพัฒนาเพื่อรักษามะเร็ง

     เนื่องจากการปรับเปลี่ยนแรงดันเสียงส่งผลให้เนื้อเยื่อหดตัวหรือขยายตัวได้ แต่เนื้อเยื่อไม่สามารถรับพลังงานเสียงทั้งหมดได้ พลังงานบางส่วนจึงเปลี่ยนเป็นความร้อน ดังนั้นหากจำกัดวงการส่งคลื่นเสียงให้อยู่ในบริเวณที่ต้องการ และส่งพลังงานความร้อนมากพอจะสามารถทำลายเนื้อเยื่อนั้นได้

———————————————-

     ด้วยหลักการนี้เอง ปีค.ศ.2008 เวชศาสตร์ความงามจึงพัฒนาพลังงาน HIFU เพื่อยกกระชับหน้า โดยกำหนดพลังงานความร้อนไม่ถึงกับทำลายเนื้อเยื่อ แต่อยู่ในระดับที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนเดิมหดตัว และกระตุ้นเซลล์ให้สร้างคอลลาเจนใหม่ ผิวแข็งแรงขึ้น กระชับขึ้น 

     วงการความงามไม่ได้ใช้เครื่อง HIFU ในการยกกระชับและฟื้นฟูผิวหน้าเท่านั้น แต่ยังเอามาใช้ในการกำจัดไขมัน โดยใช้พลังงานความร้อนจากคลื่นเสียงทำลายเซลล์ไขมัน และช่วยกระชับสัดส่วนได้ด้วย

     แต่ต่อให้สงครามช่วยสร้างประโยชน์ได้บ้าง แต่อย่ามีสงครามจะดีกว่า เพราะความสูญเสียเทียบกันไม่ได้

Message us