ว่าด้วยเรื่องสารกันแดด

ว่าด้วยเรื่องสารกันแดด

     เคยสงสัยกันไหมว่าคนสมัยก่อนทากันแดดไหม และใช้อะไรทา

     การปกป้องผิวจากแสงแดดมีมานานนับพันปี ต่อให้ยังไม่มีครีมกันแดดแบบที่เห็นในปัจจุบันก็ตาม

     ไม่มีใครรู้ว่ามนุษย์เราเริ่มปกป้องผิวจากแสงแดดตั้งแต่เมื่อไหร่แน่ แต่ที่สืบค้นได้อย่างน้อยก็ย้อนไปในสมัยอียิปต์โบราณ

     แต่ไม่เชิงว่าในสมัยนั้นตระหนักถึงภัยจากแสงแดดว่าสามารถทำอันตรายต่อผิวได้ เพราะที่ทากันแดดก็เพื่อความงามเป็นหลัก

     ชาวอียิปต์โบราณมีค่านิยมว่าผิวขาวแปลว่าสวย ซึ่งจริงๆ แล้ว ผิวสีอ่อนเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคม เนื่องจากดินแดนอียิปต์ตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายที่มีแดดจัดและอากาศแห้ง ผู้ที่จะมีผิวขาวได้ ต้องไม่ใช่ชนชั้นแรงงานที่ตากแดดตากลม ค่านิยมความสวยดังกล่าวจึงถูกกำหนดโดยชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง

     แต่การจะรักษาสีผิวให้ขาวได้ ก็ต้องอาศัยตัวช่วยหลายอย่าง เพราะยังต้องเจอแสงแดดบ้าง ชาวอียิปต์โบราณจึงทาผิวด้วยรำข้าวสกัด ดอกมะลิสกัด และดอกลูปิน (Lupine) สกัด

     อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ครีมกันแดดในปัจจุบันบางยี่ห้อ ยังใช้สารสกัดจากรำข้าว ดอกมะลิ และดอกลูปินเป็นส่วนผสม เพราะเป็นที่รับรู้กันว่ารำข้าวช่วยดูดซับรังสี UV ดอกมะลิมีฤทธิ์ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหาย ขณะที่ดอกลูปินช่วยให้ผิวกระจ่าง    

     แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่าวิวัฒนาการของอาณาจักรอียิปต์โบราณก้าวหน้าเพียงใด

———————————————-

     ขณะที่ในสมัยใกล้เคียงกัน ชาวกรีกนิยมทาผิวด้วยน้ำมันมะกอก ซึ่งในปัจจุบันค้นพบว่า ไม่มีส่วนช่วยในการป้องกันผิวจากแสงแดด แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งตึง

     หลายร้อยปีก่อน ชาวอินเดียนแดงใช้ Tsuga หรือสีย้อมจากพืชตระกูลสน มาผสมกับไขมันกวาง เพื่อใช้ทาป้องกันผิวไหม้ แต่มักจะทิ้งคราบสีเหลืองน้ำตาลบนผิว ทำให้สีผิวยิ่งดูเข้มขึ้น

     อีกตัวที่นิยมเมื่อหลายร้อยปีก่อน ได้แก่  Zinc oxide แต่เป็นสารที่ซึมเข้าผิวยาก จึงดูตลกเมื่อทาบนใบหน้า เพราะเหมือนเอาสีขาวมาป้ายหน้าป้ายจมูกไว้ แต่เป็นสารกันแดดที่ได้ผลเป็นอย่างมาก

———————————————-

     สารกันแดดยุคโบราณนี้ หลายตัวกลายมาเป็นบรรพบุรุษของครีมกันแดดยุคปัจจุบัน

     ถ้าจะนับว่าครีมกันแดดสมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด น่าจะเมื่อเราเริ่มเข้าใจว่าแสงแดดทำอันตรายต่อผิวได้อย่างไร

     ปีค.ศ.1801 Johann Wilhelm Ritter ค้นพบแสงที่มองไม่เห็นในแสงแดด หรือรังสี Ultraviolet ซึ่งทำให้เซลล์ผิวอักเสบ

     การที่ผิวไหม้ไม่ได้เกิดจากความร้อนของแสง แต่เป็นเพราะรังสีที่แผ่ออกมา

     แต่ก็ใช้เวลาอีกร้อยปี กว่าที่ Karl Hausser และ Wilhelm Vahle จะสามารถแยกความยาวคลื่นของรังสี UV ได้ และชี้ชัดได้ว่าความยาวคลื่นที่เท่าใดของรังสี UV ที่ทำให้ผิวไหม้ รวมทั้งสารใดที่สามารถป้องกันรังสีดังกล่าวได้

     ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าใครกันแน่ที่คิดค้นครีมกันแดดออกมาเป็นคนแรก เพราะต่างคนต่างออกครีมมาขายในเวลาใกล้เคียงกัน ที่สำคัญอยู่กันคนละทวีป

     ฝั่งออสเตรเลีย มี Milton Blake ที่ใช้ห้องครัวตัวเองและอุปกรณ์ครัวที่มีอยู่ทดลองผสมสารอยู่นานถึง 12 ปี กว่าจะได้ออกมาเป็นครีมกันแดดที่จัดจำหน่ายในปีค.ศ.1932

     ฝั่งยุโรป มีด้วยกัน 2 คน คนแรก Eugène Schueller ผู้ก่อตั้ง L’Oréal บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน คิดค้น Ambre Solaire ออกสู่ตลาดในปีค.ศ.1935 ซึ่งยังคงวางขายในตลาดจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้ยี่ห้อ Garnier

     ด้าน Franz Greiter ชาวสวิส ไปปีนเขา Piz Buin แล้วเกิดผิวไหม้ขึ้นมา จึงคิดค้นครีมกันแดดที่ใช้ชื่อว่า Glacier cream โดยที่ใช้ชื่อภูเขาที่ถือเป็นต้นกำเนิดให้คิดครีม (Piz Buin) มาเป็นชื่อยี่ห้อ และวางจำหน่ายครั้งแรกในปีค.ศ.1938

     ฝั่งอเมริกาอาจจะช้ากว่าเล็กน้อย เพราะ Benjamin Green ซึ่งเป็นทหารอากาศที่ออกรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญกับแสงแดดของดินแดนแปซิฟิก จึงคิดครีมกันแดด ที่ใช้ชื่อแปลกๆ ว่า Red Vet Pet ย่อมาจาก Red Veterinary Petrolatum แต่ด้วยความที่มีขี้ผึ้งเป็นส่วนผสมหลัก จึงทั้งเหนียว ทั้งเหนอะหนะ  

     Red Vet Pet ของ Green ถือเป็น Sunblock ที่ได้ผลชะงัด และสำคัญจนกระทั่งมีคำสั่งให้บรรจุเป็นอุปกรณ์ยังชีพของทหาร ขณะที่ของคนอื่นที่เหลือเป็น Sunscreen

———————————————-

     หลายคนหรืออาจจะส่วนใหญ่ที่คิดว่า Sunblock และ Sunscreen เป็นชื่อที่ใช้เรียกสารกันแดดเหมือนๆ กัน และใช้ทั้ง 2 คำ สลับกันเป็นเรื่องปกติ แต่ที่จริงแล้ว สารกันแดดทั้ง 2 ตัว ต่างกัน

     Sunblock ทำหน้าที่สะท้อนรังสียูวีไม่ให้แทรกเข้าสู่ผิวหนัง แต่ส่วนผสมหลักเนื้อจะข้นหนา และมักทำให้หน้าขาวสักพัก เนื่องจากเคลือบทับผิวเอาไว้ เรียกกันว่าเป็น Physical sunscreen

     Sunscreen ช่วยกรองรังสียูวีส่วนใหญ่ออกไป โดยดูดซับยูวีช่วงความยาวคลื่นที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังเอาไว้ แต่จะมีบางส่วนที่ผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ มักจะซึมได้ไว ไม่ทิ้งคราบ เรียกกันว่าเป็น Chemical sunscreen

     ครีมกันแดดที่วางตลาดในปัจจุบัน มักเป็นส่วนผสมระหว่าง Physical และ Chemical sunscreen เพราะต่างมีจุดเด่นจุดด้วยคนละแบบ หาน้อยมากที่จะเป็น Pure physical หรือ Pure chemical sunscreen

———————————————-

     เมื่อครั้งที่ Franz Greiter ออก Glacier cream ฉลากติดไว้ว่ามี SPF2 ถือเป็นครีมกันแดดตัวแรกที่บ่งบอกค่า SPF หรือ Sun Protection Factor ซึ่งเป็นตัวคูณของระยะเวลาที่เราทนแสงแดดได้ เช่น SPF30 หมายถึง หากปกติผิวไหม้ภายใน 10 นาที หากทาครีมจะป้องกันได้ 300 นาที 

     ฉะนั้น ต่อให้ใช้กันแดดที่มีค่า SPF เท่ากัน แต่ละคนจะป้องกันได้ในเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นกับทั้งลักษณะของผิว แสงแดดจ้าขนาดไหน และปริมาณกันแดดที่ใช้ด้วย

     เพราะค่า SPF มีเงื่อนไขว่าต้องทาในปริมาณที่กำหนด (2มก./ตร.ซม.) แต่คนส่วนใหญ่มักทากันแดดน้อยกว่าค่ามาตรฐาน

     การที่ทาเพียงครึ่งเดียว ไม่ใช่ว่า SPF ลดลงครึ่งหนึ่ง แต่แย่กว่านั้นมาก เพราะลดแบบถอดสแควรูท (กดเครื่องหมาย √ บนเครื่องคิดเลขได้) พูดง่ายๆ จาก SPF50 จะเหลือเพียง SPF7 เท่านั้น!

     ฉะนั้นควรทากันแดดให้เพียงพอ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ SPF ที่ระบุจริง สำหรับผิวหน้าและลำคอ คือประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ แขนข้างละ 2 ข้อนิ้วชี้ 

     ไม่มีครีมกันแดดตัวไหนดีที่สุดในโลก ครีมกันแดดที่ดีที่สุด คือครีมกันแดดที่เราชอบและไม่แพ้ 

     ขอเพียงแค่ใส่ใจทากันแดดทุกครั้งที่ออกจากบ้านเท่านั้น

Message us