ลดน้ำหนักอย่างไรให้ได้ผล

ลดน้ำหนักอย่างไรให้ได้ผล

องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาคมแพทย์หลายแห่ง ต่างจัดโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องพยายามหาแนวทางการรักษาอย่างจริงจัง

ไม่ใช่ว่าผอมถึงดี ไม่ว่าจะอ้วนมากหรือผอมไปก็ไม่ดีทั้งนั้น

แต่ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งส่งผลเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ อีก 195 โรค เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnoea หรือ Sleep apnea) ไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidaemia) โรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ (ความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ภาวะหัวใจล้มเหลว) ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอด เส้นเลือดสมองอุดตัน (Stroke) โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี เบาหวาน หรือข้อเสื่อม เป็นต้น

ดังนั้น หากลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อย 5% จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับหัวใจลงได้ ลดความเสี่ยงอัตราการเสียชีวิต เพราะยิ่งดัชนีมวลกาย (BMI) สูงเท่าไหร่ อายุขัย (Life expectancy) ยิ่งลดลง (มากถึง 10 ปี) ขณะเดียวกัน หากลดน้ำหนักลงได้ก็ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

—————————————————

เราคงเคยได้ยินดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index กันมาบ้าง ที่มีสูตรคำนวณคือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (วัดเป็นเมตร) ยกกำลัง 2 เป็นดัชนีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อวัดความสมดุลของน้ำหนักและส่วนสูง พูดง่ายๆ ใช้วัดความอ้วนความผอมของเรานั่นเอง เพื่อดูความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ

แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เพราะผู้ที่มี BMI สูงบางกลุ่ม ไม่ได้แปลว่าอ้วนเสมอไป นักกีฬาที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง จะส่งผลให้ BMI สูงไปด้วย ที่เห็นชัดเจนก็เช่น นักเพาะกาย หรือผู้ป่วยโรคตับ ไต ที่มีภาวะบวมน้ำ อาจมีค่า BMI สูง โดยไม่ได้หมายถึงมีภาวะอ้วน

—————————————————

เวลาคนเราลดน้ำหนัก โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ 6 ขั้น ดังนี้

ขั้นแรก เราตัดสินใจว่าจะลดน้ำหนัก

ขั้นที่ 2 เราเอาจริงเอาจัง ดูว่ามีวิธีไหนบ้าง เลือกวิธีที่คิดว่าลดได้แน่นอน

ขั้นที่ 3 เห็นคนอื่นลดได้ เรามีกำลังใจต้องลดได้เหมือนกัน

ขั้นที่ 4 แต่ทำไมมันยากขึ้นเรื่อยๆ ลดไม่ลงอีกแล้ว รู้สึกหงุดหงิด ซึ่งขั้นนี้เองที่คนมักจะถอดใจ ล้มเลิกความตั้งใจ           

ขั้นที่ 5 เหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้ว เมื่อเลิกลดกลับรู้สึกโล่งใจ หลังจากพยายามอย่างหนัก

ขั้นที่ 6 กลับมารู้สึกท้อและเศร้า ไม่อยากแม้แต่จะนึกถึงน้ำหนักตัวเอง 

แต่ถ้ามีลูกฮึดใหม่ เราก็กลับมาเริ่มใหม่ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น หากต้องการเริ่มใหม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือดูว่าตัวเองอยู่ขั้นไหน แล้วอาจจะลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอีกทางหนึ่ง

—————————————————

หลักการในการลดน้ำหนัก หนีไม่พ้นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่การใช้หลายวิธีย่อมดีกว่าวิธีเดียว ซึ่งอาจร่วมกับการใช้ยา ส่วนผู้ที่ดัชนีมวลกายสูงมาก (ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป) อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด หากวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว   

แต่ผู้เชี่ยวชาญแทบทุกรายแนะนำให้จัดโปรแกรมลดน้ำหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อปรับความสมดุลของกลไกภายในร่างกาย เพื่อรักษาน้ำหนักที่ลดลงไม่ให้กลับขึ้นมาใหม่

—————————————————

เพราะสิ่งที่เราไม่รู้เมื่อลดน้ำหนักคือ ต่อให้ลดได้ แต่น้ำหนักมักกลับขึ้นมาใหม่ในเวลาไม่นาน เนื่องจากกลไกการตอบสนองของร่างกาย ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

เมื่อน้ำหนักลดลง ร่างกายก็พยายามจะทำให้กลับไปเหมือนเดิม (โดยไม่ได้สนใจว่าเราลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ต้องการเพียงแค่รักษาสถานะเดิมเอาไว้)

ด้วยการปรับกลไกการเผาผลาญ (Metabolism) ให้ช้าลง ฮอร์โมนที่ควบคุมความต้องการอาหารก็ทำงานมากขึ้น ทำให้อิ่มช้า และหิวเร็ว น้ำหนักเลยกลับขึ้นมาใหม่ในเวลาไม่นานนัก

ซึ่งฮอร์โมนที่ว่า ได้แก่ Ghrelin, Leptin และ GLP-1 ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร

              โดย Leptin เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ลดความอยากอาหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นฮอร์โมนอิ่ม ขณะที่ Ghrelin จะหลั่งจากกระเพาะ และส่งสัญญาณไปยังสมองว่าร่างกายต้องการอาหาร หรือเป็นฮอร์โมนหิวนั่นเอง

—————————————————

ส่วน GLP-1 หรือ Glucagon-like peptide-1 เป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก่อนอื่นเราต้องแยกระหว่าง Glucagon กับ Glucagon-like peptide-1 เสียก่อน

โดย Glucagon เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมการใช้กลูโคสและไขมันในร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้ได้รับการปล่อยออกมาเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดตก หรือร่างกายต้องการน้ำตาลเพิ่มเป็นพิเศษ เช่น เวลาใช้แรงมากๆ หรือออกกำลังกายหนักๆ

Glucagon ที่ปล่อยออกมา จะไปกระตุ้นตับให้เปลี่ยน Glycogen เป็น Glucose และหลั่งสู่กระแสเลือด เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากว่างเว้นจากเมื้ออาหารเป็นเวลานาน Glucagon จะกระตุ้นให้เปลี่ยนกรดไขมันมาเป็นพลังงานให้ร่างกาย รวมทั้งเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็นน้ำตาลด้วย  

ขณะที่ Glucagon-like peptide-1 (GLP-1) กลับเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการหลั่ง Glucagon จากตับอ่อน เป็นขั้วตรงข้ามกับ Glucagon หาก Glucagon ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม GLP-1 ก็ควบคุมไม่ให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

ทั้งจากการยับยั้ง Glucagon ทั้งกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนด้วย เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลด (อินซูลินเป็นฮอร์โมนอีกตัวที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป)  

นอกจากนี้ ยังลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อิ่มเร็ว และทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น จึงรู้สึกอิ่มนาน รวมไปถึงออกฤทธิ์ที่สมอง ทำให้ลดความอยากอาหารลงด้วย  

              GLP-1 ผลิตจากลำไส้เล็ก (และบางส่วนจากตับอ่อน หรือระบบประสาทส่วนกลาง) หลั่งออกมาเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป 

—————————————————

              ด้วยความที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ บริษัทยาจึงคิดค้นยาฉีดที่ทำงานเลียนแบบ GLP-1 เพื่อใช้กับผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

              ต่อมา จากยาที่ใช้รักษาเบาหวานพัฒนาสู่การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานมักมีลักษณะใกล้เคียงกับผู้ที่อ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight)

              ถือเป็นแนวคิดอีกทางหนึ่ง เนื่องจากแนวคิดเดิมจะพยายามให้ผู้ต้องการลดน้ำหนักเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย แต่แนวคิดนี้ ให้ความสำคัญกับกลไกการทำงานของฮอร์โมน ในการควบคุมความต้องการอาหาร

              โดยยาที่ฉีดเข้าไปนี้ ทำหน้าที่ไม่ต่างจากการทำงานของ GLP-1 คือจำกัดไม่ให้ตับหลั่งน้ำตาลสู่กระแสเลือด ให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพื่อคุมระดับน้ำตาลในเลือด (ที่สูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป) และทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ลดความอยากอาหาร

              แต่ขึ้นชื่อว่ายา การใช้งานควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น และเพื่อความสวยปลอดภัยอย่างยั่งยืน

Message us