ผิวหย่อนคล้อย

ผิวหย่อนคล้อย

     ถ้าช่วงนี้ส่องกระจกแล้วเริ่มลองใช้มือช่วยดึงหน้า หรือหากรู้สึกว่าถ้าผิวกระชับขึ้นอีกนิดน่าจะดีกว่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เราควรแก้ปัญหาผิวหย่อนคล้อยได้แล้ว

     ทางเลือกแก้ปัญหาผิวหย่อนคล้อยในปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยขึ้นกับความรุนแรงของปัญหา แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การกระตุ้นให้สร้าง Collagen และ Elastin เป็นหลัก

———————————————-

     ใต้ชั้นผิวของคนเรา จะมีโครงสร้างโปรตีนที่เรียกว่าคอลลาเจนถักกันเป็นใยค้ำยันอยู่ ร่วมกับอีลาสตินซึ่งเป็นโครงสร้างโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ยืดหดได้ แทรกด้วยก้อน HA (Hyaluronic acid) ที่อุ้มน้ำจนอิ่มฟู ผิวจึงดูเปล่งปลั่ง

     ทั้งคอลลาเจนและอีลาสตินสร้างโดยเซลล์ที่มีชื่อว่า Fibroblasts

     แต่คอลลาเจนไม่ได้พบเฉพาะใต้ชั้นผิวเท่านั้น เพราะคอลลาเจนมีด้วยกันหลายชนิด ทำหน้าที่เป็นกาวยึดเนื้อเยื่อให้ติดกันดี มีความยืดหยุ่น และแข็งแรง บางชนิดทำหน้าที่เป็นเยื่อหุ้มปกป้องอวัยวะสำคัญ เช่น ไต เป็นต้น

     90% ของคอลลาเจนที่พบในร่างกายเป็นโครงสร้างของผิว กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และฟัน แต่ยังพบได้ในกล้ามเนื้อ เส้นเลือด กระจกตาด้วย

     การที่คอลลาเจนทำหน้าที่เป็นเสมือนกาวนี่เอง จึงเรียกกันว่าคอลลาเจน ที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก (Kólla) แปลว่า กาว

———————————————–

     หากเทียบกันกรัมต่อกรัม เส้นใยคอลลาเจนนั้นเหนียวแข็งแรงยิ่งกว่าเหล็กด้วยซ้ำ

     แต่เมื่ออายุมากขึ้นเส้นใยคอลลาเจนมักเปราะขาด ซึ่งเมื่อตัวค้ำยันไม่แข็งแรง ผิวก็เริ่มหย่อนลงมา

     อีลาสตินเองก็ยืดแล้วไม่หดกลับมาเช่นเดิม ผิวเลยไม่กระชับ

     ส่วน HA ก็มีจำนวนน้อยลง ผิวจึงไม่เต่งตึงเช่นเดิม

———————————————-

     การแก้ปัญหาความหย่อนคล้อยของผิวหนังจึงเป็นวิธีการที่ช่วยให้โครงสร้างการค้ำยันผิวกลับมาแข็งแรงเช่นเดิม โดยไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ให้สร้างคอลลาเจน ซึ่งจะได้อีลาสตินตามมาด้วย

     เริ่มตั้งแต่ระดับเบาที่สุด คือการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เหมาะกับผิวที่ไม่มีปัญหามาก

     มอยซ์เจอไรเซอร์ หรือครีมบำรุงผิวที่ดี จะช่วยให้ผิวอิ่มฟู ซึ่งจะทำให้ริ้วรอยตื้นๆ ดูจางลงได้ แต่ให้ผลชั่วคราว จึงควรใช้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน

     แต่ถ้าคาดหวังว่าจะให้ผลเหมือนไปทำเลเซอร์มา เกรงว่าจะผิดหวัง เพราะผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (แม้จะเป็นรุ่นที่ระบุว่าเพื่อกระชับผิวหรือต่อต้านวัยก็ตาม) ไม่สามารถซึมซาบลึกลงในไปชั้นผิวได้เทียบเท่ากับพลังงานเลเซอร์

     อย่างไรก็ตาม ความต้องการรักษาผิวให้ดูอ่อนเยาว์ไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสกินแคร์ทุ่มงบประมาณไปกับการวิจัยเพื่อหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

     รวมทั้งก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เช่น พยายามคิดค้นครีมที่ทำหน้าที่ช็อตไฟฟ้าอ่อนๆ ให้กับผิว โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือแม้แต่ความรู้สึกเจ็บ แต่ช่วยกระตุ้นผิวให้ผลิตคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าผิวจะกระชับขึ้นด้วย

———————————————-   

    วิธีต่อมา คือการทำเลเซอร์ ที่มีหลายพลังงานที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจน แต่มีเพียง 2 พลังงาน ที่ออกแบบมาเพื่อยกกระชับผิวที่หย่อนคล้อยโดยเฉพาะ ได้แก่ พลังงานอัลตราซาวด์ และคลื่นวิทยุ

     พลังงานอัลตราซาวด์ (High-intensity Focused Ultrasound หรือ HIFU ซึ่งรวมถึง Ulthera หรือ Ultherapy ด้วย) ซึ่งส่วนมากเริ่มเห็นผล 4-6 สัปดาห์ หลังจากที่ทำครั้งแรก และสามารถทำซ้ำได้ เพื่อผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

      พลังงานคลื่นวิทยุ (Rediofrequency หรือ RF) ใช้หลักการยิงพลังงานความร้อนลงไปใต้ชั้นผิวหนังเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนเช่นกัน และสามารถทำซ้ำได้

     แม้จะใช้หลักการความร้อนเช่นเดียวกัน พลังงานอัลตราซาวด์ต่างกับคลื่นวิทยุตรงที่ พลังงานอัลตราซาวด์ออกแบบมาให้ลงไปในชั้นใต้ผิวหนังที่ลึกกว่าคลื่นวิทยุ จึงไม่แค่กระตุ้นให้สร้างคอลลาเจน แต่ยังทำให้เนื้อเยื่อที่เกาะติดกับกล้ามเนื้อหดตัว (SMAS) ด้วย จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการกระชับผิวหนังด้วย

     นอกจากนี้ ยังมีพลังงานเลเซอร์อื่นๆ ที่สามารถส่งผ่านความร้อนลงไปในชั้นผิวเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้เช่นกัน แต่มักต้องทำหลายครั้งเพื่อให้ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการทำ IPL หรือ Nd: YAG หรือ Skin resurfacing หรือการใช้แสงอินฟราเรด  

———————————————- 

     การทำเลเซอร์มักจะเปรียบเทียบกับการศัลยกรรม โดยหลังจากทำเลเซอร์ จะค่อยๆ เห็นผล เนื่องจากกระบวนการสร้างคอลลาเจนใช้เวลาประมาณ 1 เดือนขึ้นไป (แต่ถ้าสร้างครบทั้งคอลลาเจน อีลาสติน และ HA จะใช้เวลาประมาณ 10 อาทิตย์ หลังจากที่ทำเลเซอร์) จึงรู้สึกว่าดูเป็นธรรมชาติกว่าเมื่อเทียบกับศัลยกรรมผ่าตัดดึงหน้า ไม่ต้องอาศัยเวลาพักฟื้นหรือน้อยมาก ใช้เวลาในการทำไม่นานนัก สามารถแต่งหน้าไปทำงานหรือออกงานต่อได้ เจ็บน้อยกว่า แม้อาจจะไม่สบายผิวนักระหว่างที่ทำ แต่หายหลังจากทำเสร็จ ความเสี่ยงต่ำกว่า ราคาต่ำกว่าการทำศัลยกรรม

     และไม่ได้ทำได้แค่หน้า แต่สามารถทำกับผิวกายส่วนที่ต้องการให้กระชับขึ้น

     แต่อาจจะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น อาการบวม หรือแดง ซึ่งหากทำกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ จะช่วยลดความเสี่ยงได้

———————————————-

     อีกวิธีคือ การผ่าตัดดึงหน้า (Facelift หรือ Rhytidectomy) ที่เน้นใบหน้าส่วนล่างและลำคอ แต่ไม่ได้รวมถึงการผ่าตัดตาหรือยกคิ้ว ซึ่งแพทย์อาจตัดไขมันและผิวส่วนที่เกินออกได้ มีระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้การบวม หรือรอยช้ำ หายเป็นปกติ

     การศัลยกรรมดึงหน้าหวังผลในเรื่องผิวหย่อนคล้อยเป็นหลัก แต่ไม่ได้ทำให้ริ้วรอยตื้นๆ หายไป เพราะฉะนั้นอาจต้องใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย

———————————————-

     นอกจากนี้ ผิวหย่อนคล้อยสามารถแก้ไขได้จากกลุ่มการฉีด ซึ่งมีตั้งแต่ Derma Roller หรือการใช้เข็มเล็กๆ จำนวนมากกลิ้งไปกับผิวที่ความลึก 1.5 มิลลิเมตรโดยใช้หลักการทำให้ผิวหนังเกิดเป็นแผล ร่างกายจึงสร้างคอลลาเจนมาทดแทนเพื่อรักษาแผลนั้น  

     การฉีดฟิลเลอร์ HA ที่มีผลทำให้เส้นใยคอลลาเจนเดิมจะถูกยืดออก เกิดเป็นแรงกระแทกเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่อยู่โดยรอบ จึงกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจน เหมาะกับการฉีดร่องลึกเฉพาะจุด และปรับรูปหน้า

     การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-rich Plasma หรือ PRP) ที่เข้าไปปรับโครงสร้างส่วนหนึ่งภายในชั้นผิวหนัง ทำให้ไฟโบรบลาสต์โดนกระตุ้น จึงผลิตคอลลาเจนมาช่วยรักษารอยหลุมสิว รอยแผลเป็นบนใบหน้า ริ้วรอยตื้นๆ และกระตุ้นการเกิดผมใหม่ด้วย

     ส่วนการฉีดโบท็อกซ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจน แต่เป็นการคลายมัดกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่ทำให้เกิดริ้วรอย โดยมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 3-4 เดือน

     ขอเพียงเลือกวิธีที่เหมาะกับสภาพผิว ความรุนแรงของปัญหา และตรงกับความต้องการของเราเอง ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะเลือกวิธีใด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำปรึกษาได้

Message us