ปัญหากลิ่นตัว

ปัญหากลิ่นตัว

     กลิ่นตัว = เหงื่อ + แบคทีเรีย

     สมการด้านบนนี้ แสดงให้เห็นว่า จะเกิดกลิ่นตัวได้ ต้องมีแบคทีเรียด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เหงื่อออกก็เกิดกลิ่นแล้ว

     เพราะเหงื่อนั้น จริงๆ แล้วไม่มีกลิ่น แต่เมื่อแบคทีเรียที่อยู่ในเหงื่อย่อยโปรตีนบางชนิด (ในเหงื่อเช่นกัน) ให้กลายเป็นกรด จึงเกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้น

     แต่ไม่ใช่เหงื่อทุกที่จะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ ต้องเป็นเหงื่อที่ผลิตจาก “ต่อมกลิ่น” (Apocrine glands) เท่านั้น

     ต่อมที่ผลิตเหงื่อในร่างกายคนเราแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Eccrine glands ที่อยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ผลิตเหงื่อ เพื่อปรับอุณหภูมิให้ร่างกาย

     อีกต่อมก็คือ Apocrine glands ที่บอกข้างต้น ต่อมนี้จะมีอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณที่มีขนขึ้นจำนวนมาก หลักๆ ได้แก่ ใต้หนังศีรษะ ใต้วงแขน ขาหนีบหรืออวัยวะเพศ ซึ่งเมื่อร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อเกิดความเครียด ประหม่า หรือวิตกกังวล จะปล่อยของเหลวคล้ายน้ำนม ซึ่งเมื่อรวมกับแบคทีเรียจะเกิดกลิ่นขึ้นมา 

จึงเรียกต่อมเหงื่อประเภทนี้ว่า ต่อมกลิ่น

     ต่อม(กลิ่น)นี้ ยังมีอยู่บริเวณสะดือ หัวนม หนังตา และใบหูด้วย จึงไม่แปลกที่บางคนจะรู้สึกว่าสะดือมีกลิ่น ส่วนที่หู เมื่อ Apocrine gland หลั่งของเหลวจะรวมตัวเป็นขี้หู แต่ไม่จำเป็นว่าหัวนมและหนังตาจะต้องมีกลิ่นไปด้วย เพราะตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่ใช่ของเหลวจากต่อมกลิ่นเท่านั้น

———————————————-

     กลิ่นเท้า ก็ไม่ต่างกัน เกิดจากแบคทีเรียที่เหงื่อ (ซึ่งออกที่เท้า) ย่อยโปรตีน นอกจากนี้ หากเหงื่อออกที่เท้ายังมีโอกาสเกิดเชื้อราได้ด้วย       

———————————————-

     แต่ละคนมีปัญหากลิ่นตัวไม่เหมือนกัน บางคนมาก บางคนน้อย เพราะหลายปัจจัยก็ส่งผลต่อการเกิดกลิ่นตัว ทั้งเพศ อาหาร ปัญหาสุขภาพ และยาบางชนิด

    ผู้หญิงมีต่อมเหงื่อมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายผลิตเหงื่อมากกว่าผู้หญิง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือนและในผู้ที่ตั้งครรภ์ที่ฮอร์โมนเปลี่ยนไป อาจจะมีกลิ่นตัวหรือกลิ่นตัวแปลกไปก็ได้

    เครื่องเทศหรืออาหารรสจัด อาหารมัน อาหารซัลเฟอร์สูง (บร็อกโคลี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ เนื้อแดง แอลกอฮอล์) ล้วนแต่เร่งให้เกิดกลิ่นตัวทั้งสิ้น แต่ตระกูลบร็อกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ยังสามารถลดฤทธิ์ลงได้หากต้มใส่เกลือ  

     โรคเบาหวาน มีแนวโน้มที่จะทำให้กลิ่นตัวได้ โดยเป็นกลิ่นผลไม้ (เพราะในเลือดมีคีโตนสูง โดยเป็นสารที่ทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งคีโตนมีกลิ่นเหมือนผลไม้)

     ผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเครียด เหงื่อยิ่งออก ยิ่งเพิ่มปัจจัยในการเกิดกลิ่นตัว

     หากได้กลิ่นคล้ายยูเรีย หรือน้ำยาฟอกขาว อาจเป็นสัญญาณจากร่างกายให้ลองไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาโรคไต หรือโรคตับ

     รวมทั้งยังมีโรคแปลกๆ เช่น โรคทางพันธุกรรม Trimethylaminuria หรือที่เรียกกันว่า Fish odour syndrome เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยส่วนประกอบทางเคมีในปลาได้ จึงทำให้เกิดกลิ่นเหมือนปลา ถ้ารับประทานปลาเข้าไป (ไม่แค่ปลา แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ยังย่อยสารบางชนิดในนมถั่วเหลือง และผักตระกูลกะหล่ำและบร็อกโคลี ไม่ได้ด้วย)

     Phenylketonuria เป็นโรคทางพันธุกรรมอีกชนิด ที่หากรับประทานน้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะเกิดปฏิกริยาทำให้ร่างกายมีกลิ่นคล้ายหนู

———————————————-

     บางคนโชคดีไม่มีกลิ่นตัว หรือในบางคนที่ไม่ได้หนักหนามาก เพียงแค่อาบน้ำให้สะอาดเป็นประจำ ใส่เสื้อผ้าสะอาด ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กลิ่น ก็ช่วยลดปัญหาไปได้

     หรืออย่าปล่อยให้ขนขึ้นยาวมาก เพราะจะกักเหงื่อไว้ จนกระทั่งแบคทีเรียมีเวลามากพอจะสร้างกลิ่นได้ หากไม่กำจัดขน อย่างน้อยก็เล็มให้สั้นลง

     เท้าก็เช่นกัน หากใส่ถุงเท้า ไม่ควรใส่ซ้ำๆ เช่นเดียวกับรองเท้า ควรมีรองเท้าไว้เปลี่ยนบ้าง อย่างที่ว่ากันว่าให้รองเท้าได้พักหายใจ เพราะรองเท้าอาจไม่สามารถแห้งได้ภายในชั่วข้ามคืน

     นอกจากทำความสะอาดแล้ว ควรใช้หินขัดเท้าขัดเซลล์ที่ตายแล้วออกไปบ้าง เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย

———————————————-

     ปัญหากลิ่นตัวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หลายคนที่มีกลิ่นตัวพยายามสรรหาวิธีต่างๆ เพื่อกำจัดกลิ่น ซึ่งมีตั้งแต่วิธีการธรรมชาติไปจนถึงสารเคมี

     ว่ากันว่าในสมัยโบราณมักจะใช้เครื่องหอมเพื่อปกปิดกลิ่น มากกว่าเพื่อระงับกลิ่น มีเพียงชาวอียิปต์โบราณและชาวเอเชียที่แก้ปัญหาตรงจุด

     เริ่มจากชาวอียิปต์โบราณที่มีสารพัดสูตรในการปกปิดกลิ่นตัว ทั้งสูตรพิเศษที่ประกอบด้วย ไข่นกกระจอกเทศ ถั่วชนิดต่างๆ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง (Tamarisk) และกระดองเต่า บดรวมกันเป็นผงในไขมัน ได้เป็นขี้ผึ้งไร้กลิ่นเอาไว้ทาลดกลิ่น

     หรือใช้ธัญพืช (Porridge) รวมกับกำยาน ปั้นเป็นลูกกลมๆ หนีบไว้ใต้วงแขน หรือกะเทาะฝักของต้นไม้ชนิดหนึ่งมาขัดทั่วร่างกาย

     ไม่อย่างนั้นก็อาบน้ำหอม ซึ่งอันที่จริงคือน้ำผสมเครื่องหอมหรือน้ำมันหอมระเหย

     แม้แต่เอาขี้ผึ้งหอมใส่ไว้ในผม พอละลาย กลิ่นจะได้อาบไปทั่วร่างกาย

———————————————-

     ถ้าวิธีของชาวอียิปต์ยุ่งยากเกินไป ลองดูวิธีของชาวกรีกและโรมันบ้าง

     ชาวกรีกใช้น้ำมันมะกอกผสมน้ำหอม นำมาทาบนผิวหนัง ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ช่วยขจัดกลิ่นตัว แต่ก็ทำให้ผิวชุ่มชื้น

     หรือถ้าเป็นชนชั้นสูงที่มีห้องอาบน้ำในบ้าน ก็จะเลียนแบบวิธีอาบน้ำผสมหอมมาจากชาวอียิปต์ ก่อนจะทาน้ำหอมใต้วงแขน

     ชาวโรมันพรมน้ำหอมให้ตัวเอง ให้เสื้อผ้า ลามไปถึงม้า และสัตว์เลี้ยงด้วย

     ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีห้องน้ำในบ้าน จะไปโรงอาบน้ำสาธารณะ ซึ่งค่อยเสื่อมความนิยมลงไปในยุคกลาง (หรือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา) เนื่องจากโบสถ์ตามหลักศาสนาคริสต์เชื่อว่าการเปลือยกายอาบน้ำเป็นบาป (ด้วยความที่โรงอาบน้ำสาธารณะจะมีผู้หญิงคอยบริการอาบให้)

     แต่ศาสนาคริสต์ก็เชื่อว่ากลิ่นตัวเป็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ต่างจากเชื้อโรค เนื่องจากสื่อถึงความตาย ดังนั้นในยุคกลางของยุโรป โบสถ์จึงเป็นสถานที่ผลิตเครื่องหอม น้ำอบ น้ำปรุง เพื่อให้ร่างกายมีกลิ่นหอม

———————————————-

     ชาวเอเชียเป็นชนชาติที่ใช้วิธีกำจัดกลิ่นตัวอย่างง่ายๆ แต่ได้ผล เพราะใช้เกลือที่มีแร่ธาตุ (หรือสารส้มที่เรารู้จักดี) มาถูใต้วงแขน ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต

———————————————-

     แต่ในยุคปัจจุบัน มีสเปรย์หรือโรลออนดับกลิ่นตัว (Deodorant) อยู่ไม่น้อย รวมทั้งสารระงับเหงื่อด้วย (Antiperspirant)

     ใน Deodorant มีสารที่เป็นตัวทำให้ผิวอยู่ในสภาวะเป็นกรด ซึ่งเป็นภาวะที่แบคทีเรียเจริญเติบโตยาก   

     ส่วน Antiperspirant เป็นสารที่ไปจับกับเกลือในเหงื่อให้กลายเป็นของเหลวที่ข้นขึ้นเนื้อหนักขึ้น เพื่อทำหน้าที่อุดต่อมเหงื่อ ป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมาจากรูขุมขน ซึ่งร่างกายสามารถขับสิ่งอุดตันนี้ออกได้ด้วยการผลัดเซลล์ผิว

     ไม่ว่าจะเลือกโรลออน สเปรย์ หรือผงระงับเหงื่อ ขอเพียงระวังไม่ให้มีส่วนผสมที่ทำให้ผิวระคายเคือง

———————————————-

     แต่บางคน แม้จะรักษาร่างกายให้สะอาดก็แล้ว เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวันก็แล้ว แม้แต่ใช้ลูกกลิ้งหรือโรลออนระงับกลิ่นกายก็แล้ว ลองสารพัดสูตรสารพัดวิธีก็แล้ว ก็ยังไม่อาจขจัดกลิ่นไปได้

     ถ้าลองวิธีไหนแล้วไม่ได้ผล อาจจะพึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ฉีดโบท็อกซ์เพื่อสกัดกั้นต่อมเหงื่อไม่ให้ทำงาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ที่รักแร้เท่านั้น คุณหมอสามารถฉีดที่เท้า เพื่อลดการผลิตเหงื่อได้เช่นกัน

     เมื่อตัดการเกิดเหงื่อลงไปได้ สมการที่ใส่ไว้ข้างต้นก็ไม่สมบูรณ์ กลิ่นตัวก็ยากที่จะเกิดเช่นกัน

     เท่านี้ก็ทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างมั่นใจแล้ว

Message us