การกำจัดขนอาจจะมีหลายวิธี แต่วิธีที่ถือว่าถาวรจะเป็นการใช้เลเซอร์ เนื่องจากสามารถทำลายรากขนได้อย่างสมบูรณ์
—————————————————
เลเซอร์กำจัดขนรุ่นแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ.1960 ที่ Theodor Maiman พัฒนา Ruby laser ขึ้นมา โดยใช้แนวคิดพื้นฐานของไอน์สไตน์ในการใช้คลื่นไมโครเวฟ แต่การใช้งานของเลเซอร์ชนิดนี้ก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก และมักมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไหม้ได้
ต่อมา YAG laser ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดขนและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ในปีค.ศ.1964 แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดขนได้อย่างถาวร
หรือแม้แต่ Alexandrite laser ที่พัฒนาตามหลังมาก็ตาม ก็ทำได้แค่เพียงลดจำนวนเส้นขน แต่พลังงานความร้อนยังไม่สามารถหยุดการเจริญของขนอย่างเบ็ดเสร็จได้ ยังพบว่าขนกลับมาขึ้นใหม่
จนมาถึงกลางทศวรรษ 1990 ที่ Dr. Richard Anderson กับ Dr. Melanie Grossman คิดค้นเครื่องที่กำหนดให้ลำแสงยิงไปที่ผิวและส่งพลังงานความร้อนตรงไปที่รากขนเพื่อทำลาย ทำให้ขนไม่งอกขึ้นมาอีก
แม้จะเป็นกระบวนการเดียวกับเลเซอร์ที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ Dr. Anderson และ Dr. Grossman ทำสำเร็จก็คือการหาความเข้มของแสง (ซึ่งหมายถึงพลังงานความร้อน) และระยะเวลาการปล่อยแสงที่เหมาะสม จนกระทั่งสามารถทำลายรากขนได้อย่างสมบูรณ์
—————————————————
คือในรูขุมขน (Hair follicle) ของคนเรา จะมีทั้งส่วนที่เป็นรากขนและขน ซึ่งภายในเส้นขนจะมีเม็ดสี (Melanin) แทรกอยู่ ส่วนตัวที่ผลิตเม็ดสี (Melanocytes) จะอยู่บริเวณกระเปาะ (Dermal hair papillae) ส่วนล่างสุดของรูขุมขน เช่นเดียวกับตัวที่ทำหน้าที่สร้างเส้นขน (Hair matrix cells)
โดยที่เม็ดสีที่ทำให้เห็นเป็นสีขน (หรือสีผม) ทอดตัวเรียงตามแนวแกนกลางเส้นขน (Hair cortex) และบางส่วนอาจจะไปเกาะอยู่บริเวณชั้นนอกของเส้นขนถัดจากแกนกลางออกมา (Hair medulla)
—————————————————
วิธีการทำงานของเครื่องเลเซอร์จะยิงแสงเลเซอร์ไปที่ผิวหนัง ซึ่งเมลานินหรือสีในเส้นขนจะเป็นตัวดูดซับแสงนั้นและเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนทำลายรากขน ทำให้ไม่สามารถผลิตเส้นขนได้อีก หรือทำให้เส้นขนงอกช้าลง
เส้นขนที่จะตอบสนองต่อการทำเลเซอร์ จึงต้องเป็นเส้นขนที่มีเม็ดสีอยู่ หรือเป็นขนที่อยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต
—————————————————
เพราะขนก็มีวงจรชีวิต โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ
Anagen (ระยะเติบโต) เป็นระยะที่เซลล์แบ่งตัวอย่างมาก และ Melanocyte สร้างเม็ดสีตลอดเวลา ขนในแต่ละบริเวณมีระยะเจริญไม่เท่ากัน เส้นผมจะอยู่ในระยะนี้ 2-8 ปี ขนที่ขาจะมีอายุ 3-7 เดือน ส่วนขนแขนมีอายุแค่ 45-90 วันเท่านั้น และยังมีอัตราการเจริญไม่เท่ากันด้วย แน่นอนว่าเส้นผมที่ศีรษะจะยาวเร็วกว่าที่บริเวณลำตัว
Catagen (ระยะเปลี่ยนแปลง) เป็นระยะที่เส้นขนหยุดการเจริญเติบโตแล้ว รวมทั้งไม่มีการสร้างเม็ดสีด้วยเช่นกัน รูขุมขนเอง ก็หดสั้นขึ้นเรื่อยๆ
Telogen (ระยะพัก) เป็นระยะที่ขนเริ่มหลุดร่วง กินเวลาเฉลี่ย 1-3 เดือน สำหรับเส้นผม และประมาณ 6 เดือน สำหรับเส้นขน แต่ยังมีกระเปาะรากขน (Hair bulb) หลงเหลืออยู่ จากนั้นจะมีขนใหม่ขึ้นและเวียนกลับไปสู่ระยะเติบโตใหม่อีกครั้ง
—————————————————
แต่ไม่ใช่ว่าขนจะขึ้นมาพร้อมกัน แล้วร่วงไปพร้อมกัน เส้นขนแต่ละเส้นขึ้นเป็นเอกเทศ
ขนเส้นหนึ่งอยู่ในระยะเจริญเติบโต อีกเส้นหนึ่งอาจอยู่ในระยะหยุดการเจริญไม่มีเม็ดสีแล้วก็ได้ หรืออีกเส้นหนึ่งอาจจะกำลังจะร่วงได้
การกำจัดขน จึงต้องทำหลายครั้ง กว่าที่จะกำจัดขนได้อย่างเกลี้ยงเกลาทั้งหมด เพราะต้องรอให้ขนที่อยู่ในระยะพักหรือระยะเปลี่ยนแปลงวนกลับมาอยู่ในระยะเติบโตอีกครั้ง
—————————————————
อีกอย่าง ในแต่ละบริเวณของร่างกายจะมีสัดส่วนปริมาณขนในระยะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน
ศีรษะจะมีสัดส่วนของเส้นขนที่เป็นระยะเจริญเติบโตอยู่เป็นจำนวนมาก (85%) ถึงได้เห็นว่าผมคนเรามีอยู่ตลอดเวลา และร่วงวันละไม่กี่ร้อยเส้น
หนวดและเครา ก็มีขนที่เจริญเติบโตอยู่จำนวนไม่น้อย (65% และ 70% ตามลำดับ)
ขณะที่ ขนรักแร้หรือขนในที่ลับของเรามีขนในระยะเจริญเติบโตอยู่เพียง 30% และอีก 70% เป็นขนที่อยู่ในระยะรอการหลุดร่วง
ยิ่งขนแขน ขนที่ขา หรือหน้าแข้ง ยิ่งมีขนในระยะเติบโตน้อยเข้าไปอีก (20%)
ขนที่แขนและขา จึงยิ่งต้องใช้จำนวนครั้งในการกำจัดมากกว่าบริเวณอื่น เพราะต้องรอให้ขนขึ้นมาใหม่เข้าระยะเจริญเติบโตเสียก่อน จึงจะมีเม็ดสีในเส้นขนให้เลเซอร์กำจัดได้ การทำเลเซอร์แต่ละครั้งกำจัดขนได้เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น
—————————————————
นอกจากนี้ ยิ่งเป็นขนอ่อน หรือขนเส้นบางๆ ที่มีสีอ่อนกว่าเส้นขนอื่นในบริเวณเดียวกัน ยิ่งกำจัดยาก เพราะจำนวนเม็ดสีจะน้อย การดูดซับพลังงานก็ต่ำไปด้วย การกำจัดจึงต้องเพิ่มจำนวนครั้ง เพื่อที่เม็ดสีจะค่อยๆ ดูดซับพลังงานความร้อนจนถึงขึ้นที่ทำลายรากขนได้
ส่วนขนสีขาวหรือสีเทาจะมีเมลานินชนิดที่ไม่ค่อยดูดซับแสง การกำจัดด้วยเครื่องเลเซอร์จึงไม่ค่อยได้ผลนัก
—————————————————
ปัจจุบัน เครื่องเลเซอร์กำจัดขนไม่ว่าชนิดใด ก็ได้รับการพัฒนาต่อมาจนกระทั่งสามารถกำจัดขนได้อย่างถาวรเช่นเดียวกันหมด โดยมีตั้งแต่พลังงานคลื่นแสง (Intense Pulse Light หรือ IPL) ที่แม้ไม่ใช่เลเซอร์ แต่สามารถนำมาใช้กำจัดขนได้ แต่ประสิทธิภาพในการกำจัดขนจะสู้เครื่องเลเซอร์ไม่ได้
เครื่องเลเซอร์ชนิด Alexandrite เหมาะกับผิวสีอ่อน จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในเมืองไทยที่คนส่วนใหญ่สีผิวเข้ม เช่นเดียวกับสีขน
เลเซอร์ชนิด Diode ใช้ได้กับขนสีเข้ม มักมีหัวขนาดใหญ่ กำจัดขนบริเวณกว้างได้ดี
เลเซอร์ชนิด Long Pulse Nd:YAG ใช้ได้ดีกับทุกสีผิว ปลอดภัยที่สุดสำหรับผิวสีเข้ม หลายเครื่องมีหัวที่ยิง Single shot เหมาะสมกับการเก็บรายละเอียดบริเวณเล็ก
แต่นอกจากตัวเครื่องแล้ว ประสิทธิภาพในการกำจัดขนขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ใช้เครื่องเลเซอร์นั้น รวมไปถึงความละเอียดถี่ถ้วนในการเก็บงานด้วย